7/6/53

การปกครองของไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนปลาย


การปกครองส่วนกลาง

ทำการปฏิรูปโดยจัดตั้งหน่วยราชการใหม่ เรียกว่า กระทรวง ซึ่งมี ๑๒ กระทรวง ใน พ.ศ.๒๔๓๕ แต่ละกระทรวงมีเสนาบดีรับผิดชอบงานของกระทรวงนั้นๆ กระทรวงต่างๆ ในสมัยปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมีดังนี้

๑.กระทรวงมหาดไทย
มีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ และเมืองลาวประเทศราช

๒.กระทรวงกลาโหม
มีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ ฝ่ายตะวันออก และเมืองมลายูประเทศราช
๓.กระทรวงการต่างประเทศ
มีหน้าที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ
๔.กระทรวงวัง
มีหน้าที่รับผิดชอบราชการในพระราชวัง และกรมที่เกี่ยวข้องกับราชการในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๕.กระทรวงนครบาล
มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการตำรวจ และราชทัณฑ์ ต่อมาให้รับผิดชอบราชการในเขตแขวงกรุงเทพฯ ราชธานี
๖.กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการเก็บภาษีอากร และเงินที่เป็นรายรับและรายจ่ายในแผ่นดิน
๗.กระทรวงยุติธรรม
มีหน้าที่บังคับศาลที่ชำระความทั่วทั้งประเทศทั้งแพ่ง อาญา และอุทธรณ์
๘.กระทรวงยุทธนาธิการ
มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทหารบก และทหารเรือ
๙.กระทรวงเกษตราธิการ
มีหน้าที่เกี่ยวกับการเพาะปลูก การป่าไม้ การทำเหมืองแร่ และการค้าขาย
๑๐.กระทรวงธรรมการ
มีหน้าที่เกี่ยวกับการศาสนา การศึกษา และการสาธารณสุข
๑๑.กระทรวงโยธาธิการ
มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการก่อสร้าง ทำถนน ขุดคลอง การช่างทั่วไป การไปรษณีย์โทรเลข และการรถไฟ ซึ่งวางแผนไว้ว่าจะมีขึ้นภายหลัง
๑๒.กระทรวงมุรธาธิการ
มีหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาตราแผ่นดิน รักษาพระราชกำหนดกฎหมายและงานหนังสือราชการทั้งปวง
ยิ่งกว่านั้น ยังได้ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาขึ้น ๒ สภา ก็คือ
๑.รัฐมนตรีสภา
๒.องคมนตรีสภา



การปกครองส่วนภูมิภาค

การจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยปฏิรูปการปกรองแผ่นดิน มีดังนี้

๑.มณฑลเทศาภิบาล

เป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยเมืองตั้งแต่สองเมืองขึ้นไป มีข้าหลวงเทศาภิบาล หรือสมุหเทศาภิบาล ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีตัวแทนของกระทรวงอื่นๆ เป็นผู้ช่วยในการปฏิบัติราชการ

๒.เมือง

หรือจังหวัดในปัจจุบัน มีผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบ ขึ้นกับข้าหลวงเทศาภิบาลโดยตรง โดยมีข้าราชการอื่นๆ เป็นผู้ช่วย

๓.อำเภอ

มีนายอำเภอซึ่งผู้ว่าราชการเมืองแต่งตั้งเป็นผู้รับผิดชอบ

๔.ตำบล

มีกำนันซึ่งได้รับเลือกตั้งมาจากผู้ใหญ่บ้าน และผู้ว่าราชการเมืองแต่งตั้ง เป็นผู้รับผิดชอบ

๕.หมู่บ้าน

มีผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งราษฎรเลือกตั้งมา เป็นผู้รับผิดชอบ

การปกครองแบบท้องถิ่น

ทรงเล็งเห็นคุณประโยชน์ของการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง จึงได้ทรงให้มีการปกครองท้องถิ่นโดยการจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอมขึ้นเป็นแห่งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ ในระยะต่อมา จึงได้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลขึ้น ถึง ๓๕ แห่ง การปกครองท้องถิ่นในรูปสุขาภิบาลนี้ เป็นการร่วมมือกันระหว่างหัวหน้าหน่วยราชการตำแหน่งต่างๆ ในท้องที่ กับกรรมการอื่นๆ ที่ราษฎรเป็นผู้เลือกขึ้นมา หน้าที่สำคัญๆ ของสุขาภิบาลได้แก่ การรักษาความสะอาด การให้การศึกษาขั้นต้นแก่ราษฎร การอนามัย และการบำรุงรักษาถนนหนทาง



การปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย ได้ดำรงอยู่จนถึง พ.ศ.๒๔๗๕ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงมาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ มีข้าราชการทหารและพลเรือนกลุ่มหนึ่ง ได้แก่การปฏิวัติขึ้น โดยทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าว มีดังนี้

๑. เกิดจากอิทธิพลของการมีแนวความคิดในเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่บ้านข้าราชการที่ได้รับการศึกษามาจากยุโรป
๒. ฐานะทางการคลังของรัฐบาลเกิดทรุดลง ทำให้ต้องตัดรายจ่ายในด้านต่างๆ ลง ซึ่งรวมถึงบัญชีเงินเดือนของข้าราชการฝ่ายต่างๆ ด้วยจึงเกิดความไม่พอใจขึ้นมา
๓. คณะผู้ก่อการหลายคน มีความรู้สึกว่า ตนไม่ได้รับการยอมรับในความสามารถจากเจ้านายบางพระองค์ คณะผู้ก่อการ ซึ่งเรียกว่าตัวเองว่า
"คณะราษฎร" ได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้น โดยมีพระยามโนปกรณ์ นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ได้ประกาศให้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ใช้รูปแบบการปกครองระบบรัฐสภา


๑.ลักษณะการปกครอง มีลักษณะสำคัญๆ ดังนี้คือ

๑.๑ อำนาจอธิปไตย เป็นของประชาชน

๑.๒ พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะเป็นประมุขของประเทศ

๑.๓ รัฐสภา เป็นสถาบันที่เป็นตัวแทนของประชาชน มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมาย

๑.๔ คณะรัฐมนตรี มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยรับผิดชอบต่อรัฐสภา คือจะต้องได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา มิฉะนั้น จะต้องลาออก หรือยุบสภา
๑.๕ ศาล มีหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดี
๑.๖ ประชาชน มีหลักประกันในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค
๒. นโยบายการปกครองโดยทั่วไป คณะราษฎรได้ประกาศนโยบายการปกครองประเทศ ๖ ประการ ดังต่อไปนี้คือ
๒.๑ จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย

๒.๒ จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ

๒.๓ จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ

๒.๔ จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน

๒.๕ จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ

๒.๖ จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร


๓. การจัดระเบียบการปกครอง มีวิธีดำเนินการปกครอง ดังนี้

๓.๑ รัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์ของสถาบันทางการปกครองที่สำคัญๆ ซึ่งได้แก่ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล

๓.๒ จัดให้มีการเลือกตั้งโดยเสรี ตามระยะเวลาที่กำหนด

๓.๓ สมาชิกรัฐสภา ให้ความไว้วางใจบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้ารัฐบาล ทั้งนี้จะโดยการหยั่งเสียง หรือเลือกมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีชื่อเสียงมาก
๓.๔ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้เลือกบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล คณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร และจะอยู่ในตำแหน่งตามระยะเวลาที่กำหนด แต่อาจยุบสภาหากมีความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่
๓.๕ คณะรัฐมนตรี จะรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภา
๓.๖ รัฐมนตรี แต่ละคน จะรับผิดชอบการบริหารงานในกระทรวงของตน
๓.๗ การตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ จะถือเสียงข้างมากเป็นหลัก
๓.๘ พระมหากษัตริย์ ทรงมีฐานะเป็นประมุขของประเทศ และทรงอยู่เหนือการเมือง
๔. ผลของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
๔.๑ มีรัฐธรรมนูญ ในการปกครองประเทศทำให้เกิดการปกครองโดยยึดหลักกฎหมาย
๔.๒ การปกครองระบอบประชาธิปไตย มีความเหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจทางสังคมและทางการเมือง
๔.๓ ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามีส่วนร่วมในการปกครอง โดยใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของตน
๔.๔ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคกันมากขึ้น
๔.๕ ทำให้เกิดสถาบันทางการปกครองใหม่ๆ
๔.๖ ในด้านเศรษฐกิจ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น