26/5/53

วันวิสาขบูชา


ความหมายของ วันวิสาขบูชา คำว่า วิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" ดังนั้น วิสาขบูชา จึงหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 การกำหนด วันวิสาขบูชา วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 7 หรือราวเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ในบางปีของบางประเทศอาจกำหนด วันวิสาขบูชา ไม่ตรงกับของไทย เนื่องด้วยประเทศเหล่านั้นอยู่ในตำแหน่งที่ต่างไปจากประเทศไทย ทำให้วันเวลาคลาดเคลื่อนไปตามเวลาของประเทศนั้นๆ



ประวัติวันวิสาขบูชา และความสำคัญของ วันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่เกิด 3 เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวียนมาบรรจบกันในวันเพ็ญเดือน 6 แม้จะมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี ซึ่งเหตุการณ์อัศจรรย์ 3 ประการ ได้แก่1. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "สมปรารถนา" เมื่อข่าวการประสูติแพร่ไปถึงอสิตดาบส 4 ผู้อาศัยอยู่ในอาศรมเชิงเขาหิมาลัย และมีความคุ้นเคยกับพระเจ้าสุทโธทนะ ดาบสจึงเดินทางไปเข้าเฝ้า และเมื่อเห็นพระราชกุมารก็ทำนายได้ทันทีว่า นี่คือผู้จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงกล่าวพยากรณ์ว่า "พระราชกุมารนี้จักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เห็นแจ้งพระนิพพานอันบริสุทธ์อย่างยิ่ง ทรงหวังประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จะประกาศธรรมจักรพรหมจรรย์ของพระกุมารนี้จักแพร่หลาย" แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นั้นทรงรู้สึกอัศจรรย์และเปี่ยมล้นด้วยปีติ ถึงกับทรุดพระองค์ลงอภิวาทพระราชกุมารตามอย่างดาบส2. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี จนเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย สิ่งที่ตรัสรู้ คือ อริยสัจสี่ เป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ต้นมหาโพธิ์ และทรงเจริญสมาธิภาวนาจนจิตเป็นสมาธิได้ฌานที่ 4 แล้วบำเพ็ญภาวนาต่อไปจนได้ฌาน 3 คือ
ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ " คือ ทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่นได้ ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการมีตาทิพย์สามารถเห็นการจุติและอุบัติของวิญญาณทั้งหลาย ยามสาม หรือยามสุดท้าย : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ" คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ 35 พรรษา
3. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป) เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมเป็นเวลานานถึง 45 ปี จนมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 6 พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวายก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธุ์ปรินิพพาน เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธุ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน 6 นั้น


ประวัติความเป็นมาของ วันวิสาขบูชา ในประเทศไทย ปรากฎหลักฐานว่า วันวิสาขบูชา เริ่มต้นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากลังกา นั่นคือ เมื่อประมาณ พ.ศ.420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จากนั้นกษัตริย์ลังกา พระองค์อื่นๆ ก็ปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบทอดต่อกันมา ส่วนการเผยแผ่เข้ามาในประเทศไทยนั้น น่าจะเป็นเพราะประเทศไทยในสมัยกรุงสุโขทัยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนากับประเทศลังกาอย่างใกล้ชิด เห็นได้จากมีพระสงฆ์จากลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย สำหรับการปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาในสมัยสุโขทัยนั้น ได้มีการบันทึกไว้ในหนังสือนางนพมาศ สรุปได้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนคร ด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ขณะที่พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน
ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ ฯลฯ หลังจากสมัยสุโขทัย ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มากขึ้น ทำให้ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีการประกอบพิธีวิสาขบูชา จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2360) ทรงมีพระราชดำริที่จะให้ฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรก ในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ.2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อให้ประชาชนได้ทำบุญ ทำกุศล โดยทั่วหน้ากัน การรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาในครานี้ จึงถือเป็นแบบอย่างถือปฏิบัติในการประกอบพิธี วันวิสาขบูชา ต่อเนื่องมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน




วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญที่สุดทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากล้วนมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันที่พระศาสดา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ดังนั้นพุทธศาสนิกชนทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชานี้ และในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2542 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยเรียกว่า Vesak Day ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา ผู้ที่ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณา และได้กำหนดวันวิสาขบูชานี้ถือเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา โดยการที่สหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกนั้น ได้ให้เหตุผลไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน การประกอบพิธีใน วันวิสาขบูชา การประกอบพิธีใน วันวิสาขบูชา จะแบ่งออกเป็น 3 พิธี ได้แก่
1. พิธีหลวง คือ พระราชพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบในวันวิสาขบูชา
2. พิธีราษฎร์ คือ พิธีของประชาชนทั่วไป
3. พิธีของพระสงฆ์ คือ พิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจ กิจกรรมใน วันวิสาขบูชากิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติใน วันวิสาขบูชา ได้แก่
1. ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ และเจ้ากรรมนายเวร
2. จัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหารที่วัด และปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
3. ปล่อยนกปล่อยปลา เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล
4. ร่วมเวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัดในตอนค่ำ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
5. ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา
6. จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติ หรือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาตามโรงเรียน หรือสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อให้ความรู้ และเป็นการร่วมรำลึก ถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา
7. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการ
8. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์




หลักธรรมที่สำคัญใน วันวิสาขบูชา ที่ควรนำมาปฏิบัติ ใน วันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรยึดมั่นในหลักธรรม ซึ่งหลักธรรมที่ควรนำมาปฏิบัติในวันวิสาขบูชา ได้แก่ 1. ความกตัญญู คือ การรู้คุณคน เป็นคุณธรรมที่คู่กับความกตเวที ซึ่งหมายถึงการตอบแทนคุณที่มีผู้ทำไว้ ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ เป็นเครื่องหมายของคนดี ทำให้ครอบครัวและสังคมมีความสุข ซึ่งความกตัญญูกตเวทีนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้ง บิดามารดาและลูก ครูอาจารย์กับศิษย์ นายจ้างกับลูกจ้าง ฯลฯ ในพระพุทธศาสนา เปรียบพระพุทธเจ้าเสมือนกับบุพการี ผู้ชี้ให้เห็นทางหลุดพ้นแห่งความทุกข์ ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงควรตอบแทนด้วยความกตัญญูกตเวทีด้วยการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และดำรงพระพุทธศาสนาให้อยู่สืบไป2. อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใน วันวิสาขบูชา ได้แก่ ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต สภาวะที่ทนได้ยาก ซึ่งทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ การเกิด การแก่ และการตาย ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ ส่วนทุกข์จร คือ ทุกข์ที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การพลัดพลาดจากสิ่งที่เป็นที่รัก หรือ ความยากจน เป็นต้น สมุทัย คือ ต้นเหตุของปัญหา หรือสาเหตุของการเกิดทุกข์ และสาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาเกิดจาก "ตัณหา" อันได้แก่ ความอยากได้ต่างๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด นิโรธ คือ ความดับทุกข์ เป็นสภาพที่ความทุกข์หมดไป เพราะสามารถดับกิเลส ตัณหา อุปาทานออกไปได้ มรรค คือ หนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ เป็นการปฎิบัติเพื่อแก้ปัญหา มี 8 ประการ ได้แก่ ความเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ3. ความไม่ประมาท คือการมีสติตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ล้วนต้องใช้สติ เพราะสติคือการระลึกได้ การระลึกได้อยู่เสมอจะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ซึ่งความประมาทนั้นจะทำให้เกิดปัญหายุ่งยากตามมา ดังนั้นในวันนี้พุทธศาสนิกชนจะพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยความมีสติ วันวิสาขบูชา นับว่าเป็นวันที่มีความสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน เป็นวันที่มีการทำพิธีพุทธบูชา เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ อีกทั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ทั้ง 3 ประการ ที่มาบังเกิดในวันเดียวกัน และนำหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติในการดำรงชีวิตค่ะ





ขอบคุณสำหรับการติดตามน่ะค่ะถ้าอ่านกันจบแล้วก็ไปทดสอบความรู้กันได้เลยค่ะ

22/5/53

ว่าด้วยเรืองของสุโขทัย



อาณาจักรสุโขทัย หรือ รัฐสุโขทัย (อังกฤษ: Kingdom of Sukhothai) เป็นอาณาจักร หรือรัฐในอดีตรัฐหนึ่ง ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำยม เป็นชุมชนโบราณมาตั้งแต่ยุคเหล็กตอนปลาย จนกระทั่งสถาปนาขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในฐานะสถานีการค้าของรัฐละโว้ หลังจากนั้นราวปี 1800 พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง ได้ร่วมกันกระทำการยึดอำนาจจากขอมสบาดโขลญลำพง ซึ่งทำการเป็นผลสำเร็จและได้สถาปนาเอกราชให้สุโขทัยเป็นรัฐอิสระ และมีความเจริญรุ่งเรืองตามลำดับและเพิ่มถึงขีดสุดในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ก่อนจะค่อยๆตกต่ำ และประสบปัญหาทั้งจากปัญหาภายนอกและภายใน จนต่อมาถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาไปในที่สุด

ที่ตั้งและอาณาเขต

อาณาจักรสุโขทัย ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าผ่านคาบสมุทรระหว่างอ่าวเมาะตะมะ และที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง มีอาณาเขตดังนี้[1]
1.ทิศเหนือ มีเมืองแพร่ (ปัจจุบันคือจังหวัดแพร่) เป็นเมืองปลายแดนด้านเหนือสุด
2.ทิศใต้ มี
เมืองพระบาง (ปัจจุบันคือจังหวัดนครสวรรค์) เป็นเมืองปลายแดนด้านใต้
3.ทิศตะวันตก มี
เมืองฉอด (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก) เป็นเมืองชายแดนที่จะติดต่อเข้าไปยังอาณาจักรมอญ
4.ทิศตะวันออก ถึง
เมืองสะค้าใกล้แม่น้ำโขงในเขตภาคอีสานตอนเหนือ



ประวัติศาสตร์

ชุมชนก่อนรัฐ
ความเชื่อเรื่องก่อนกำเนิดรัฐสุโขทัย แต่เดิมมีความเชื่อว่ากลุ่มคนจำนวนมากอพยพหนีการรุกรานจากจีนผ่านมาทางเชียงแสน เชียงราย ลุ่มแม่น้ำปิง และตั้งเมืองที่ลุ่มแม่น้ำยมตอนล่าง คติดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมประวัติศาสตร์ชาตินิยม และสร้างภาพของสุโขทัยออกมาในฐานะราชธานีอันยิ่งใหญ่ที่มีเขตแดนจาก
พงสาลีจรดปลายแหลมมลายู มีแสนยานุภาพเกรียงไกรด้วยกองทัพปลดแอกจากมหาอำนาจขอม มีรูปแบบการปกครองแบบครอบครัวเชิงอุปถัมภ์ที่เรียกกันว่าพ่อปกครองลูก อีกทั้งมีเศรษฐกิจที่รุดหน้ากว่าชาติตะวันตกในรูปแบบการค้าเสรี มีการใช้ภาษาเชิงอารยะคือมีอักษรใช้เป็นของชาติตนเอง แต่ในเวลาต่อมาแนวคิดนนี้เริ่มมีข้อบกพร่อง อีกทั้งเริ่มมีหลักฐานอื่นขึ้นมาขัดแย้งเรื่อยๆ นอกจากนี้แนวความคิดนี้ยังก่อให้เกิดปัญหามโนคติตามมา [ต้องการอ้างอิง]
ปัจจุบันมีการสันนิษฐานว่า ในบริเวณสุโขทัยน่าจะมีชุมชนอยู่ก่อนแล้ว ทั้งจากกลุ่มชนที่สูงพวก
ลัวะ หรือกลุ่มพื้นราบจากอารยธรรมทวารวดี นอกจากนี้ยังมีการค้นพบแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ที่บ้านวังหาด อำเภอบ้านด่านลานหอย โดยเฉพาะแร่เหล็ก ซึ่งก่อให้เกิดการตั้งฐิ่นฐานเพื่อทำอุตสาหกรรมถลุงแร่เหล็ก และการผลิตเครื่องมือเหล็กต่างๆในราวยุคเหล็กตอนปลายต่อเนื่องสมัยทวารวดี โดยพบหลักฐานเป็นโลหะห้อยคอรูปหน้าลิง นอกจากนี้ยังพบร่องรอยชุมชนริมแม่น้ำลำพัน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงวังตะคร้อ ซึ่งมีการพบหลักฐานจำพวกลูกปัด และบริเวณนี้ก็เป็นที่ตั้งของถ้ำเจ้าราม หรือถ้ำพระราม ซึ่งเป็นสถานที่ที่ถูกเอ่ยถึงในศิลาจารึกหลักที่ 1 แต่ชุมชนเหล่านี้ ก็มิได้ขยายตัวเป็นเมืองใหญ่จวบจนกระทั่งสมัยอาณาจักรเท่านั้น [ต้องการอ้างอิง]
สุโขทัย เป็นชุมทางการค้าที่สำคัญจุดหนึ่งที่ผู้คนจากทั่วสารทิศมาพบปะกันจริงๆ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ดังจะเห็นได้ว่าในตอนต้นของประวัติศาสตร์ มีการปรากฏตัวของ
มะกะโท ซึ่งเป็นพ่อค้า และยังมีการเข้าตีเมืองตาก โดยขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในช่วงเวลาหนึ่งของสุโขทัย ทั้งนี้มีการสันนิษฐานว่า สุโขทัยเป็นสถานีการค้าของแคว้นละโว้ (ลวรัฐ) บนเส้นทางการค้าผ่านคาบสมุทรระหว่างอ่าวเมาะตะมะ กับเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง (ประเทศลาว) คาดว่าเริ่มตั้งเป็นสถานีการค้าในราวพุทธศักราช 1700 ในรัชสมัยของพระยาธรรมิกราช กษัตริย์ละโว้[ต้องการอ้างอิง] โดยมีพ่อขุนศรีนาวนำถม เป็นผู้ปกครองและดูแลกิจการภายในเมืองสุโขทัย และศรีสัชนาลัย ต่อมาเมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถมสวรรคต ขอมสบาดโขลญลำพง สันนิษฐานว่าเป็นผู้ตรวจราชการจากลวรัฐ[ต้องการอ้างอิง] เข้าทำการยึดอำนาจการปกครองสุโขทัย แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เหตุสงครามอย่างที่เข้าใจกัน เพราะขอมสบาดโขลญลำพงครองสุโขทัยเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน แม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถชี้ชัดระยะเวลาที่แท้จริงได้ก็ตาม




สถาปนาอาณาจักร

เมื่อต่อมาเกิดความขัดแย้งบางประการ ทั้งอาจจะเกิดจากขอมสบาดโขลญลำพงโดยตรงหรือไม่ก็ตาม แต่น่าจะกระทบกระเทือนต่อ ราชวงศ์นำถุม (ผาเมือง) และราชวงศ์พระร่วง จึงส่งผลให้พ่อขุนบางกลางหาว และพ่อขุนผาเมือง ต้องร่วมมือกันชิงเอาสุโขทัยคืนจากขอมสบาดโขลญลำพง ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นผลสำเร็จในปี
พ.ศ. 1781 จากนั้น พ่อขุนผาเมืองก็กลับยกเอาเมืองสุโขทัย พระแสงขรรค์ชัยศรี และพระนาม "ศรีอินทรบดินทราทิตย์" ซึ่งได้นำมาใช้เป็นพระนาม ภายหลังได้คลายเป็น ศรีอินทราทิตย์ ให้กับพ่อขุนบางกลางหาว และหายไปจากประวัติศาสตร์จากนั้นเป็นต้นมา ซึ่งมีการสันนิษฐานไปต่างๆนานา ทั้งการไปครองเมืองที่ใหญ่กว่า หรือกลับไปครองเมืองราดตามเดิมอย่างสงบ
แม้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ได้ปกครองสุโขทัยแล้ว กิจการเมืองก็ยังไม่สงบเรียบร้อยดังปรากฏว่ามี
ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ยกทัพเข้ามาตีเมืองตาก และท้ายที่สุดเกิดยุทธหัตถี ระหว่างขุนสามชน กับ รามราช พระโอรสองค์เล็กของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ผลคือพระโอรสองค์เล็กได้รับชัยชนะ และได้รับการเฉลิมพระนามว่ารามคำแหง หลังพ่อขุนศรีอินทราทิตย์สวรรคต พ่อขุนบานเมือง พระโอรสองค์โต และ พ่อขุนรามคำแหง พระโอรสองค์เล็ก ก็ได้ปกครองสุโขทัยต่อตามลำดับ โดยในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงได้ประกอบพระกรณียกิจไว้มากมาย ทั้งการขยายดินแดน ซึ่งเดิมเชื่อว่าทรงได้พื้นที่จากพงสาลี จรดแหลมมลายู แต่ปัจจุบันหลักฐานหลายชิ้นระบุอาณาเขตไว้ใต้สุดเพียงเมืองพระบาง นอกจากนี้ด้านศาสนายังมีการประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์อีกการแทรกแซงจากอยุธยา
หลังจากพ่อขุนรามคำแหงสวรรคตแล้ว เมืองต่างๆเริ่มแข็งเมือง ส่งผลให้ในรัชกาลพญาเลอไท และรัชกาลพญาไสลือไท ต้องส่งกองทัพไปปราบหลายครั้งแต่มักไม่เป็นผลสำเร็จ และการปรากฏตัวขึ้นของอาณาจักรอยุธยาทางตอนใต้ซึ่งกระทบกระเทือนเสถียรภาพของสุโขทัยจนในท้ายที่สุดก็ถูกแทรกแทรงจากอยุธยา จนมีฐานะเป็นหัวเมืองของอยุธยาไปในที่สุด โดยมี พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) เป็นผู้ปกครองสุโขทัยในฐานะรัฐอิสระพระองค์สุดท้าย โดยขณะนั้น ด้วยการแทรกแซงของอยุธยา รัฐสุโขทัยจึงถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ
เมืองสรวงสองแคว (พิษณุโลก) อันเป็นเมืองเอก มีพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) เป็นผู้ปกครอง
เมืองสุโขทัย เมืองรอง มี พระยาราม เป็นผู้ปกครอง
เมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย) มี พระยาเชลียง เป็นผู้ปกครอง
เมืองชากังราว (กำแพงเพชร) มี พระยาแสนสอยดาว เป็นผู้ปกครอง
หลังสิ้นรัชกาล
พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมบาล) พระยายุทธิษฐิระซึ่งเดิมทีอยู่ศรีสัชนาลัย ได้เข้ามาครองเมืองสองแคว (พิษณุโลก) และเมื่อแรกที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จขึ้นผ่านพิภพ เป็นพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่าขณะนั้น พระยายุทธิษฐิระ เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ที่ได้เพียงตำแหน่งพระยาสองแคว เนื่องด้วย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเคยดำริไว้สมัยทรงพระเยาว์ว่า หากได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ จะชุบเลี้ยงพระยายุทธิษฐิระให้ได้เป็นพระร่วงเจ้าสุโขทัย พ.ศ. 2011 พระยายุทธิษฐิระจึงเอาใจออกห่างจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ไปขึ้นกับ พระยาติโลกราช กษัตริย์ล้านนาในขณะนั้น เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดการเฉลิมพระนามกษัตริย์ล้านนา จากพระยา เป็น พระเจ้า เพื่อให้เสมอศักดิ์ด้วยกรุงศรีอยุธยา พระนามพระยาติโลกราช จึงได้รับการเฉลิมเป็นพระเจ้าติโลกราช
หลังจากที่พระยายุทธิษฐิระ นำสุโขทัยออกจากอยุธยาไปขึ้นกับล้านนา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงทรงเสด็จจากกรุงศรีอยุธยา กลับมาพำนัก ณ เมืองสรลวงสองแคว พร้อมทั้งสร้างกำแพงและค่ายคู ประตู หอรบ แล้วจึงสถาปนาขึ้นเป็นเมือง พระพิษณุโลกสองแคว เป็นราชธานีฝ่ายเหนือของอาณาจักรแทนสุโขทัย ในเวลาเจ็ดปีให้หลัง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงทรงตีเอาสุโขทัยคืนได้ แต่เหตุการณ์ทางเมืองเหนือยังไม่เข้าสู่ภาวะที่น่าไว้วางใจ จึงทรงตัดสินพระทัยพำนักยังนครพระพิษณุโลกสองแควต่อจนสิ้นรัชกาล ส่วนทางอยุธยานั้น ทรงได้สถาปนาสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระราชโอรส เป็นพระมหาอุปราช ดูแลอยุธยาและหัวเมืองฝ่ายใต้
ด้วยความที่เป็นคนละประเทศมาก่อน และมีสงครามอยู่ด้วยกัน ชาวบ้านระหว่างสุโขทัยและอยุธยา จึงมิได้ปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จึงต้องแยกปกครอง โดยพระมหากษัตริย์อยุธยา จะทรงสถาปนาพระราชโอรส หรือพระอนุชา หรือพระญาติ อันมีเชื้อสายสุโขทัย ปกครองพิษณุโลกในฐานะราชธานีฝ่ายเหนือ และควบคุม
หัวเมืองเหนือทั้งหมด




การสิ้นสุดของรัฐ

พ.ศ. 2127 หลังจากชนะศึกที่แม่น้ำสะโตงแล้ว พระนเรศวรโปรดให้เทครัวเมืองเหนือทั้งปวง (ตาก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิชัย ชัยบุรี ศรีเทพ) ลงมาไว้ที่อยุธยา เพื่อเตรียมรับศึกใหญ่ พิษณุโลกและหัวเมืองเหนือทั้งหมดจึงกลายเป็นเมืองร้าง หลังจากเทครัวไปเมืองใต้ จึงสิ้นสุดการแบ่งแยกระหว่างชาวเมืองเหนือ กับชาวเมืองใต้ และถือเป็นการสิ้นสุดของรัฐสุโขทัยโดยสมบูรณ์ เพราะหลังจากนี้ 8 ปี พิษณุโลกได้ถูกฟื้นฟูอีกครั้ง แต่ถือเป็นเมืองเอกในราชอาณาจักร มิใช่ราชธานีฝ่ายเหนือ
ในด้านวิชาการ มีนักวิชาการหลายท่านได้เสนอเพิ่มว่า เหตุการณ์อีกประการ อันทำให้ต้องเทครัวเมืองเหนือทั้งปวงโดยเฉพาะพิษณุโลกนั้น อยู่ที่เหตุการณ์
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ บนรอยเลื่อนวังเจ้า ในราวพุทธศักราช 2127 แผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลให้ตัวเมืองพิษณุโลกราพณาสูญ แม้แต่แม่น้ำแควน้อย ก็เปลี่ยนเส้นทางไม่ผ่านเมืองพิษณุโลก แต่ไปบรรจบกับแม่น้ำโพ (ปัจจุบันคือแม่น้ำน่าน) ที่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไป และยังส่งผลให้พระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก หักพังทลายในลักษณะที่บูรณะคืนได้ยาก ในการฟื้นฟูจึงกลายเป็นการสร้างพระปรางค์แบบอยุธยาครอบทับลงไปแทน ทั้งหมด



ด้านการปกครอง
แบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้
1.แบบพ่อปกครองลูก
( ปิตุลาธิปไตย )
สุโขทัยมีลักษณะการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ผู้ปกครองคือ พ่อขุน ซึ่งเปรียบเสมือนพ่อที่จะต้องดูแลคุ้มครองลูก ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ทรงโปรดให้สร้างกระดิ่งแขวนไว้ที่หน้าประตูพระราชวัง เมื่อประชาชนมีเรื่องเดือดร้อนก็ให้ไปสั่นกระดิ่งร้องเรียน พระองค์ก็จะเสด็จมารับเรื่องราวร้องทุกข์ และโปรดให้สร้างพระแทนมนังคศิลาอาสน์ได้กลางดงตาล ในวันพระจะนิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์สั่งสอนประชาชน หากเป็นวันธรรมดาพระองค์จะเสด็จออกให้ประชาชนเข้าเฝ้าและตัดสินคดีความด้วยพระองค์เอง การปกครองแบบพ่อปกครองลูก(
ปิตุลาธิปไตย)ใช้ในสมัยกรุงสุโขทัยตอนต้น
2.แบบ
ธรรมราชา
การปกครองแบบธรรมราชา หมายถึง พระราชาผู้ปฏิบัติธรรมหรือ กษัตริย์ผู้มีธรรม ในสมัยของ
พระมหาธรรมราชาที่ ๑ มีกำลังทหารที่ไม่เข้มแข็ง ประกอบกับอาณาจักรอยุธยาที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ได้แผ่อิทธิพลมากขึ้น พระองค์ทรง เกรงภัยอันตรายจะบังเกิดแก่อาณาจักรสุโขทัย หากใช้กำลังทหารเพียงอย่าง เดียว พระองค์จึงทรงนำหลักธรรมมาใช้ในการปกครอง โดยพระองค์ทรงเป็น แบบอย่างในด้านการปฏิบัติธรรม ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา นอกจากนั้นพระ มหาธรรมราชาที่ ๑ ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ที่ปรากฏแนวคิดแบบธรรมราชาไว้ด้วย การปกครองแบบธรรมราชา ใช้ในสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลาย ตั้งแต่พระมหาธรรมราชาที่ ๑ - ๔
ด้านการปกครองส่วนย่อยสามารถแยกกล่าวเป็น 2 แนว ดังนี้
ในแนวราบ
จัดการปกครองแบบพ่อปกครองลูก กล่าวคือผู้ปกครองจะมีความใกล้ชิดกับประชาชน ให้ความเป็นกันเองและ
ความยุติธรรมกับประชาชนเป็นอย่างมาก เมื่อประชาชนเกิดความเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนกับพ่อขุนโดยตรงได้ โดยไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้ที่หน้าประตูที่ประทับ ดังข้อความในศิลาจารึกปรากฏว่า "…ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งไว้ให้ ไพร่ฟ้าหน้าใส…" นั่นคือเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถมาสั่นกระดิ่งเพื่อแจ้งข้อร้องเรียนได้
ในแนวดิ่ง
ได้มีการจัดระบบการปกครองขึ้นเป็น 4 ชนชั้น คือ
พ่อขุน เป็นชนชั้นผู้ปกครอง อาจเรียกชื่ออย่างอื่น เช่น
เจ้าเมือง พระมหาธรรมราชา หากมีโอรสก็จะเรียก "ลูกเจ้า"
ลูกขุน เป็นข้าราชบริพาร ข้าราชการที่มีตำแหน่งหน้าที่ช่วงปกครองเมืองหลวง หัวเมืองใหญ่น้อย และภายในราชสำนัก เป็นกลุ่มคนที่ใกล้ชิดและได้รับการไว้วางใจจากเจ้าเมืองให้ปฏิบัติหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ไพร่ฟ้า
ไพร่หรือสามัญชน ได้แก่ราษฎรทั่วไปที่อยู่ในราชอาณาจักร (ไพร่ฟ้า)
ทาส ได้แก่ชนชั้นที่ไม่มีอิสระในการดำรงชีวิตอย่างสามัญชนหรือไพร่ (อย่างไรก็ตามประเด็นทาสนี้ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่ามีหรือไม่)





อ่านเนื้อเรื่องกันจบแล้วก็ถึงเวลาทำแบบฝึกหัดทดสอบตังเองกันแล้วค่ะที่
http://uploadingit.com/d/LBCE1P22EBHMQLBG
ขอให้โชคดีน่ะค่ะ

เข้ามาดูกันได้น่ะเราชอบมากเลย

1/5/53

ตำนานและเทพนิยายกรีก-โรมัน


เฮรา(Hera)
จูโน(Juno)
ราชินีแห่งสรวงสวรรค์
กล่าวถึงซีอุสและพี่น้องหลายคนไปแล้ว คราวนี้ก็ถึงคิวของพี่สาวผู้เป็นศรีภรรยาของมหาเทพเสียที
ดังที่เคยกล่าวแล้วว่าโครนอสและรีอามีบุตรธิดาด้วยกันห้าองค์ซึ่งโครนอสกลืนลงท้องไปซะสี่องค์เหลือซีอุสผู้เดียวที่เหลือรอดกลับมาทวงสิทธิคืน(ด้วยกำลัง)จนได้ตำแหน่งมหาเทพไปครอง เฮราก็เป็นหนึ่งในสี่ที่ถูกโครนอสกลืนลงไป
นางเป็นลูกคนที่สามของพี่น้องทั้งห้า
เมื่อตอนที่โครนอสดื่มน้ำยาที่เมทิสผสมขึ้นและคาย(?)ลูกๆทั้งสี่ออกมา โฉมสะคราญแห่งเฮราก็เป็นที่ประจักษ์ต่อชาวโลก….โดยเฉพาะต่อซีอุส จอมเทพผู้เพิ่งได้ตำแหน่งหมาดๆถึงกับตกตะลึงแทบเพ้อในรูปโฉมของพี่สาวทีเดียว
ความสวยสดงดงามของเฮรานั้นไม่มีเทพธิดาหรือนางพรายได้เทียบได้ติด…อาจจะแม้แต่อะโฟรไดทีก็ตาม(ก็ที่นางได้รับเลือกให้งามที่สุดโดยเจ้าชายปารีสมันเป็นเรื่องที่ว่าใครให้สินบนถูกใจเจ้าชายต่างหาก) จนกระทั่งซีอุสคลั่งไคล้นางต้องการได้นางเป็นภรรยามากกว่าที่เคยรู้สึกต่อหญิงใด แต่ทว่าเฮราไม่ต้องการเช่นนั้น
เนื่องจากต้องติดอยู่ในท้องของบิดามาตลอดชีวิตวัยเยาว์ เฮราจึงต้องการใช้ชีวิตให้คุ้มค่าไม่รีบร้อนที่จะคิดมีพันธะใด จึงไปอยู่ที่เฮราเออุมซึ่งเป็นวิหารศักดิ์สิทธิ์ของตนในอาร์กอสโดยมีนางไนแอดส์หรือนางเงือกแห่งทะเลสาบอย่างยูรีโบอา,โปรซีมนาและอาคราเออาเป็นนางกำนัลคนสนิทคอยรับใช้ดูแล
แต่บ้างก็กล่าวว่าผู้ที่ดูแลเฮราก่อนที่นางจะสมรสกับซีอุสคือเทเมนุสบุตรแห่งเพลาสกุส ซึ่งเขาก็คอยดูแลเฮราอย่างจงรักภักดีโดยตลอด และได้สร้างเจดีย์ขึ้นมาสามองค์เพื่อระลึกถึงวัยต่างๆของเฮรา
คือ
-ก่อนสมรสกับซีอุสนั้นคือวัยเยาว์
-สมรสกับซีอุสแล้วคือวัยผู้ใหญ่
-เมื่อตอนทะเลาะกับซีอุสแล้วหนีจากโอลิมปุสมาพำนักกับราชาสติมฟาลุสแห่งอาร์คาเดียกับเทเมนุสคือวัยม่าย
ทั้งที่ปฎิเสธเสียงแข็งไม่ยอมแต่งงานกับซีอุสในตอนแรกแล้วยังไงถึงมาเป็นราชินีผู้ลือชื่อที่สุดในเทพนิยายกรีกได้ ก็ต้องลองอ่านกันต่อไป…
ซีอุสอยากได้เฮรามาเป็นภรรยาจนแทบทนไม่ได้ แต่ทำอย่างไรล่ะในเมื่อนางไม่เล่นด้วยไม่เหมือนกับหญิงคนอื่นที่เคยพบพานซึ่งแล้วต้องหลงในบ่วงเสน่ห์อันร้ายกาจของตนทุกราย จะให้ไปฉุดเฮรามาก็ใช่ที ในเมื่อนางมีศักดิ์เป็นถึงพี่สาวของตนก็รู้สึกเกรงใจนิดๆ
ในที่สุดซีอุสก็เกิดความคิดดีๆขึ้นมา เป็นความคิดที่ค่อนข้างจะเจ้าเล่ห์และยอมลงทุนมากทีเดียว
ด้วยอำนาจแห่งเทพเจ้า ซีอุสได้จำแลงเป็นนกคุกคูได้อย่างไม่มีผิดเพี้ยนสักนิด..เรียกได้ว่าไม่มีใครจับผิดได้ละกัน…จอมเทพในร่างนกน้อยได้บินฉวัดเฉวียนเฉียดไปมาแถวๆหน้าต่างห้องนอนของเทพธิดาเฮรา คอยจับจ้องดูกิริยาที่เป็นธรรมชาติน่ารักและเจือด้วยความสง่างามของเทพธิดาเจ้าของห้องอย่างเพลินตาเพลินใจ เมื่อสบจังหวะเฮราเดินมาที่ระเบียงหินที่ยื่นยาวออกจากตัวห้อง นกจำแลงก็แกล้งหุบปีกแนบข้างลำตัวทิ้งร่างตกตุ่บลงแทบเท้านางทันที ร่างนกน้อยจำแลงสั่นสะท้านราวกับว่าความหนาวกำลังจะปลิดชีวิตน้อยๆของมันในไม่ช้า
---เฮรานั้นโปรดปรานสัตว์จำพวกนกมากที่สุด รวมทั้งสัตว์ประจำตัวของนางก็ยังเป็นนกยูง---
เทพธิดาน้อยเฮราอุทานแผ่วเบา และด้วยความสงสารจับใจ นางก้มลงประคองร่างสั่นเทาของนกจำแลงด้วยมือทั้งสอง และพามันไปนอนกกกอดให้ความอบอุ่นที่เตียงของนาง
เข้าแผนจอมเทพของเรา
เฮรามารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่นกตัวน้อยที่กอดอยู่กลายเป็นร่างสูงใหญ่ของซีอุสไปแล้ว ในเมื่อมันเลยเถิดมาขนาดนี้ไม่มีทางเลือกสำหรับเฮราผู้เป็นฝ่ายมีแต่เสียกับเสียนอกจากรับคำแต่งขอแต่งงานจากมหาเทพอย่างเลี่ยงไม่ได้
เมื่อแต่งงานไปแล้วซีอุสจึงรู้ว่าเฮราไม่ได้มีเพียงที่สวยงามอ่อนไหวอย่างที่คิด อีกด้านหนึ่งในตัวเฮราคือความโหดร้าย นางไม่เคยปราณีผู้ที่เป็นศัตรูต่อนาง โดยเฉพาะบรรดาคนรักของสวามี นางตามจองล้างจองผลาญอย่างไม่ยอมรามือจนกว่าจะเห็นอีกฝ่ายพบชะตากรรมที่เลวร้าย และจะพอใจที่สุดถ้าถึงกับตายไปให้พ้นหน้าพ้นตาเลยก็ดี นางตามราวีทุกรายจนได้ชื่อว่าเป็นหญิงที่ขี้หึงที่สุดในเทพปกรณัมก็ว่าได้
และความหึงหวงที่ไม่เคยฟังเหตุผลใครของเฮรานี่เองที่ทำให้มีปากเสียงกระทบกระทั่งกับซีอุสโดยตลอด ความเป็นอยู่ของทั้งคู่ก็ลุ่มๆดอนๆไปตามอรรถภาพ บางครั้ง(น้อยมาก)ก็ร่วมมือกัน บางครั้งนางก็เหลืออดในพฤติกรรมของสวามีจนกระทำสิ่งที่ขัดแย้งกับซีอุสลงไป เช่น เฮราเคยร่วมมือกับโปเซดอนและอพอลโลจะโค่นซีอุส จะสำเร็จอยู่รอมร่อ แต่ซีอุสก็ปราบกบฎร่วมสายเลือดพวกนี้ได้และลงโทษอย่างสาสมต่อความผิด โดยให้อพอลโลและโปเซดอนไปใช้แรงงานช่วยสร้างกำแพงเมืองทรอย ส่วนชายาอย่างเฮราก็ถูกจับล่ามไว้บนท้องฟ้า
ถึงจะทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อยๆ เฮรากับซีอุสก็ยังมีบุตรธิดาด้วยกันหลายคน คือ
อาเรส หรือมาร์ส เทพเจ้าแห่งสงคราม
ดิสคอร์เดีย เทพธิดาแห่งการวิวาทบาดหมาง ฝาแฝดของอาเรส (นี่แหล่ะเทพธิดาผู้กลิ้งลูกแอปเปิ้ลทองคำที่สลักคำว่า “แด่ผู้ที่งดงามที่สุด” เข้าไปในกลุ่มเทพธิดาที่มาในงานแต่งงานในโอลิมปุส จนผลของการตัดสินของเจ้าชายปารีสนำไปสู่มหาสงครามซึ่งทำให้ทรอยล่มสลายไม่เหลือซาก)
อาร์จี เป็นนางเงือก
อีไลไธยา หรือลูซิดาในตำนานโรมัน ซึ่งเป็นเทพีแห่งการให้กำเนิดทารก
เฮเบ หรือแกนีมีดาเทพธิดาแห่งความเยาว์วัย ได้รับหน้าที่ให้ถือถ้วยของเทพเจ้า จนถูกปลดให้เจ้าชายแกนิมีดทำแทน เนื่องจากนางแสดงความหยาบคายในงานที่จัดขึ้นที่โอลิมปุสงานหนึ่ง
เฮเฟตุส หรือวัลแคน เทพแห่งการช่าง
ซึ่งเทพองค์หลังนี้ ส่วนมากว่าเป็นโอรสที่เฮราให้กำเนิดฝ่ายเดียวไม่เกี่ยวกับซีอุสหรือชายใด---และเท่าที่รู้มา เฮราไม่มีประวัติคบชู้แต่ประการใด
เหตุก็จากการที่ซีอุสให้กำเนิดเอธีนาและไดโอนีซุสจากร่างตนเอง และทั้งสองก็เป็นเทพที่ป๊อบปูลาร์มาก ส่วนบรรดาบุตรธิดาของนางก็ไม่ค่อยจะเป็นที่ต้อนรับของชาวกรีกสักเท่าไหร่ ก็คนหนึ่งเป็นเทพแห่งสงคราม(ชาวกรีกไม่นิยมชมชอบการทำสงคราม) คนหนึ่งก็ไปไหนคนก็อยากจะหลบเพราะเป็นเทพธิดาที่ชอบทำให้เกิดความบาดหมาง อีกคนแม้จะได้ตำแหน่งทรงเกียรติถือถ้วยเทพเจ้าแต่ก็ไม่วายนิสัยไม่ค่อยก่อเรื่องจนถูกปลดลงจากตำแหน่งอีก
ไอ้การด้อยความนิยมที่มีต่อบรรดาลูกๆของนางกับซีอุสทำให้เฮรารู้สึกริษยาจึงลองมีโอรสด้วยตนเอง แต่ผลลัพธ์ที่เกิดก็ทำให้นางแทบร้องไม่ออก เพราะเฮเฟตุสที่นางให้กำเนิดมีร่างกายพิกลพิการไม่สมกับเป็นเทพ จนซีอุสกล่าวหาว่าเฮรามีชู้(คิดว่าคนอื่นเป็นแบบตัวเอง) จนต้องพาไปสาบานด้วยน้ำในแม่น้ำสติกซ์ ซีอุสจึงยอมเชื่อ
---และนี่ก็เป็นปัญหาทำนองไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน---ก็เพราะว่าตอนที่เอธีนาเกิด ซีอุสใช้เทพเฮเฟตุสให้เอาขวามจามพระเศียรเพื่อดูว่าทำไมจึงปวดนักหนา แล้วเอธีนาก็กระโดดออกมาจากรอยแยกของเศียรบิดา
ด้วยว่าชีวิตการแต่งงานของนางไม่มีความราบรื่นเลย ต้องผจญกับปัญหามากมายที่สวามีตัวดีเที่ยวไปก่อไว้ เฮราจึงเป็นเทพีที่อุปถัมภ์การแต่งงานและเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ของชีวิตคู่ โดยที่คู่บ่าวสาวกรีกโบราณต้องของพรและทำพิธีบูชาเฮราในวันที่พวกเขาแต่งงานเพื่อให้ชีวิตคู่ราบรื่นถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร
ชู้รักมากมากของซีอุสต้องจบชีวิตลงเพราะเฮรา วิธีการก็แสนจะหฤโหดเต็มที---เรียกได้ว่าคิดวิธีการฆ่าแทบจะไม่ซ้ำกันทีเดียว
อย่างกรณีที่ดูโหดและทำร้ายจิตใจของซีอุสให้เซเมเล่มารดาของไดโอนีซุสต้องตายด้วยคำสาบานที่นางขอจากซีอุส โดยที่เฮราจำแลงกายเป็นนางพี่เลี้ยงของเจ้าหญิงเซเมเล่และให้นางทูลขอพรที่ซีอุสที่เคยให้คำสัตย์ต่อเจ้าหญิงน้อยว่าจะให้สิ่งใดก็ได้ที่นางขอหนึ่งอย่าง เฮราในร่างแปลงยุให้เซเมเล่ให้ซีอุสดื่มน้ำจากแม่น้ำสติกซ์แม่น้ำแห่งสัจจะ ซึ่งผู้ดื่มเข้าไปและจะพูดแต่ความจริงหากสัญญาก็ต้องทำตามคำที่ลั่นไว้ เซเมเล่ก็ขอพรให้ซีอุสปรากฎกายในร่างเทพเจ้าและสวมชุดเกราะเต็มยศตามที่นางพี่เลี้ยงตัวปลอมบอก ซีอุสจำต้องทำให้แม้จะรู้เต็มอกว่าหญิงคนรักต้องตาย---สมปรารถนาเฮรา ร่างของเซเมเล่มอดไหม้เป็นมหาจุลในพริบตาด้วยลำแสงร้อนแรงจากรัศมีของมหาเทพ แต่ซีอุสก็ช่วยชีวิตทารกในครรภ์ได้ทัน โดยคว้ามาจากท้องเซเมเล่ก่อนนางจะตายและเอามาฝังไว้ที่ต้นขาของตนเองจนกระทั่งถึงกำหนดคลอด
อัลมีเน่มารดาของวีรบุรุษจอมพลังเฮราเคลสหรือเฮอร์คิวลิสก็เกือบตายขณะที่หลับใหลด้วยความอ่อนเพลียจากการคลอดบุตร เพราะเฮราส่งอสรพิษยักษ์ไปให้ฆ่าทั้งแม่และลูก แต่หนูน้อยเฮอร์คิวลิสตื่นขึ้นมาก่อน จึงจับคองูยักษ์แกว่งไปมาและบีบคองูร้ายตายด้วยความไร้เดียงสา(?)
---ไอ้การกระทำนี้เองที่ทำให้เฮรารู้สึกว่าเจ้าเด็กทารกนี่ต่อกรตนเองได้ตั้งแต่เกิดจึงเกลียดขี้หน้าเฮราเคลสและตามจองล้างจองผลาญมาตลอด จนเฮราเคลสมีครอบครัว เฮราก็ทำให้เฮราเคลสคลั่งจนฆ่าภรรยาและลูกชายทั้งสองตายด้วยมือตัวเอง---โหดจริงๆ
ฝาแฝดผู้เลื่องชื่ออย่างอพอลโลและอาร์เตมิสก็หวิดไม่ได้เกิด เพราะเฮราส่งไพธอนไปไล่ฆ่าเลโตมารดาของทั้งสองในขณะที่ตั้งครรภ์ใกล้คลอดแบบกะไม่ให้เด็กได้เกิด---ถ้าเลโตไม่เสี่ยงหนีลงทะเลและโปเซดอนไม่บันดาลเกาะเดลอสขึ้นมา เราก็คงไม่ได้มีโอกาสรู้จักเทพแฝดคู่นี้หรอก เมื่อแฝดผู้พี่เมื่อเติบใหญ่ก็สังหารเจ้าไพธอนและยึดวิหารแห่งเดลฟีที่เคยเป็นเทวลัยของเฮรามาเป็นของตน
คาลิสโตชู้รักคนหนึ่งของซีอุสก็ถูกซีอุสสาปให้เป็นกลุ่มดาวหมีใหญ่บนท้องฟ้าเพื่อปกป้องนางจากเฮรา(บ้างก็ว่าจากคำสาปของอาร์เตมิส เพราะนางเป็นหญิงผู้รับใช้เทพธิดาแห่งจันทราแต่กลับป่องซะ) อาร์คัสบุตรชายของนางกับซีอุสก็ได้รับการนางไตตันไมอา ซึ่งก็คือมารดาของเฮอร์เมส นางก็ต้องไปหลบซ่อนตัวจากการตามล่าของเฮราเหมือนกัน แต่เมื่อเฮอร์เมสเติบโตขึ้นกลับเป็นเทพองค์หนึ่งที่เฮราโปรดปรานมากทีเดียวอาจเรียกได้ว่าเหมือนเป็นแม่ลูกกันเลยก็ว่าได้ เฮรามักใช้เฮอร์เมสไปทำธุระให้นาง ซึ่งเฮอร์เมสก็ยินดีทำ
แม้แต่นักบวชหญิงแห่งอาร์กอสผู้รับใช้เฮราอย่างไอโอก็ต้องเกือบตายด้วยฤทธิ์แรงหึง เมื่อซีอุสแอบมีสัมพันธ์กับนาง เฮราจะเอาเรื่องจนซีอุสต้องแปลงร่างไอโอเป็นวัว เฮราก็แสร้งทูลขอจากซีอุส และให้อาร์เกสอสูรไซคอล์ปผู้ที่ไม่หลับเฝ้าวัวแปลงเอาไว้ เมื่อนางหนีไก็ต้องระหกระเหินไปถึงอียิปต์และได้สมรสกับราชาเทเลโกนุสของอียิปต์และเป็นบรรพชนของดานาอุส(บิดาของดานาอีทั้งห้าสิบที่ต้องใช้คนโทก้นรั่วตักน้ำใส่บ่อในเฮดีส)
แม้จากตัวอย่างเหยื่อความโหดของเฮราจะมีมากมายและวิธีจัดการดูน่ากลัว แต่เจ้าแม่แห่งสรวงสวรรค์จะมุ่งร้ายก็เฉพาะพวกที่เป็นศัตรู ส่วนพวกที่บูชานาง ก็จะได้รับผลตอบแทนที่แสนดีกลับคืนเพราะนางจะคอยดูแลทุกข์สุขโดยตลอด อย่างเช่นที่นางได้ให้ความช่วยเหลือต่อเจ้าชายเจสันตั้งแต่ต้นในการตามหาขนแกะทองคำ หากไม่มีเฮราสักคน เจสันและเรืออาร์โกของเราก็จอดไม่แจวเป็นแน่
เฮราโปรดปรานเมืองอาร์กอสและชาวเมืองที่นั่นมากที่สุดในบรรดาพวกกรีกด้วยกัน และยังเป็นเทพีประจำนครนั้น และเนื่องจากบิดามารดาของเจสันรวมทั้งตัวเขาและเมืองโครินธ์บูชานาง เฮราจึงช่วยเหลือโดยแปลงร่างเป็นหญิงชรามาช่วยให้คำเป็นไปตามทำนายที่ว่า ผู้ที่มาทวงบัลลังก์คืนจะสวมรองเท้าข้างเดียว และยังคอยช่วยให้เขาฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย รวมทั้งยังสั่งให้อีรอสแผลงลูกศรทองคำใส่นางเมเดอาแม่มดสาวคนงามผู้เป็นธิดาของราชาเออีเตสแห่งโคลคิสผู้ครอบคองขนแกะทองคำ ทำให้นางหลงรักเจสันและช่วยเขาให้ทำภารกิจที่เออีเตสมอบหมายเสร็จสมบูรณ์โดยไม่เป็นอันตราย และเมเดอายังช่วยขโมยขนแกะเมื่อเออีเตสเกิดเบี้ยวรวมถึงช่วยให้เจสันหนีการตามล่าของเออีเตสผู้เป็นบิดาของนางอีกด้วย---ส่วนวิธีที่นางช่วยให้คนรักหนีกองทัพอันโกรธเกรี้ยวของบิดานั้นโหดพอดู แต่เราจะเอาไว้พูดถึงในโอกาสต่อไปในเรื่องเจสันกับขนแกะทองคำ
ผลไม้ที่เฮราโปรดก็คือแอปเปิ้ลและทับทิม สวนแอปเปิ้ลทองคำที่พวกเฮสเพอริเดสลูกสาวของของไตตันแอตลาสคอยเฝ้าดูแลก็เป็นสมบัติของเฮรา
ส่วนชนชาติที่เฮราชังน้ำหน้ายิ่งนักก็คงจะหนีไม่พ้นพวกโทรจัน ด้วยเหตุที่ว่าปารีสไม่เลือกนางเป็นผู้ที่สวยที่สุด ดังนั้นในสงครามระหว่างทรอยกับกรีกเพื่อแย่งชิงราชินีเฮเลน เฮราก็อยู่ฝ่ายกรีกตามแรงแค้นสั่งการอย่างอัตโนมัติ
ไหนๆก็พูดเรื่องไม่ยอมแพ้ใครเรื่องความสวยแล้ว ก็ขอแถมให้อีกนิดนึง ว่าเหยื่อความโกรธเกรี้ยวเรื่องว่ามีใครสวยกว่าเธอนั้นไม่ใช่มีแค่พวกโทรจันเท่านั้น ยังมีนางซิดี ผู้ซึ่งเป็นภรรยาคนแรกของโอไรออนนายพรานมือฉมัง(ตอนหลังถูกอาร์เตมิสสาปและจบชีวิตอย่างน่าเศร้า)คุยโอ่ว่าตัวเองน่ะสวยเลอเลิศกว่าใครๆในโลกนี้--และยังไม่พอ--ซิดียังโม้ต่อไปว่าแม้แต่เฮราจอมเทวีก็ไม่อาจจะมาทาบรัศมีของตนเองได้--คงคิดว่าพูดอยู่บนโลกแล้วเฮราที่อยู่บนโอลิมปุสจะไม่ได้ยิน แต่ก็โชคร้ายของนางซิดีที่เฮราได้ยินเต็มสองรูหู เฮราจึงทำให้ซิดีไม่มีโอกาสโม้ให้รำคาญใจและเจ็บใจได้อีก จอมเทวีจึงจัดการส่งซิดีให้ไปไกลๆจากการได้เห็นได้ยินโดยส่งตรงดิ่งไปยังยมโลก ประมาณว่าอยากโม้ก็ไปโม้ต่อที่นั่นตามสบาย
เฮราเป็นตัวแทนของความงามสง่าเย่อหยิ่งเยี่ยงราชินี ในขณะที่อะโฟรไดทีจะมีความสวยงามที่ออกไปในทางเย้ายวนแบบหญิงสาว เฮราก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของภรรยาที่ซื่อสัตย์ไม่นอกใจสามีและสตรีขี้หึงอีกด้วย
Angelos.